วิจัยสาเหตุมะเร็งปากมดลูก ติดเชื้อโรคจากเพศสัมพันธ์





          โรคมะเร็งปากมดลูก หนึ่งปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นและคร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลก จากสภาวะปัญหาดังกล่าว บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (จีเอสเค) จึงร่วมกับการประชุมในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียด้านสูติศาสตร ์และนรีเวชวิทยา ครั้งที่ 19 จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความรู้แก่สื่อมวลชนในภูมิภาคเอเชียภายใต้หัวข้อ “สภาวะปัญหาโรคมะเร็งปากมดลูกในเอเชีย” ที่โรงแรม โคอิค คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

          ศ.ซูซานเน่ การ์แลนด์ ประธาน เอเชีย โอเชีย เนีย ออการ์ไนเซชั่น ออน เดอะ รีเสิร์ช ออฟ จีนิทอล เทรค อินเฟคชั่นส์ แอนด์ นีโอพลาเซีย (AOGIN) กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกว่า พบมากเป็นอันดับสองของผู้หญิงทั่วโลก ทุกปีมีผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกจำนวน 510,000 ราย ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ในเอเชียมีผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณ 245,000 รายต่อปี สาเหตุที่มีตัวเลขสูงเพราะขาดการตรวจคัดกรองโรค เพื่อหาสภาวะของเซลล์ที่กำลังจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งที่มีประสิทธิภาพและขาดการรักษาอย่างถูกต้องก่อนที่เซลล์พัฒนาไปเป็นมะเร็ง

          ประธาน AOGIN กล่าวถึงสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกว่า มาจากเชื้อไวรัสฮิวแมนแพปพิลโลมา หรือเชื้อเอชพีวี ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์มีผลต่อผิวหนังและอวัยวะเพศของชายและหญิง ในผู้หญิงที่ติดเชื้อเอชพีวีสามารถติดเชื้อที่ปากมดลูกนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ 3 ใน 4 ของผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์จะมีโอกาสติดเชื้อเอชพีวีในบางช่วงของชีวิต ส่วนมากร่างกายของผู้ติดเชื้อสามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีไปได้เอง ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อเอชพีวีไปได้จะแสดงอาการของโรคหูด เชื้อโรคเหล่านี้ จะแพร่อย่างรวดเร็วทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 70 ของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมีเชื้อเอช พีวี 2 ประเภทคือ เอชพีวี 16 และเอชพีวี 18
          “การตรวจร่างกายหรือตรวจหาโรคมะเร็งปากมดลูกโดยวิธีการตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูกที่เรียกว่า “แพปสเมียร์” อย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการป้องกันตัวเองที่ดีที่สุด ผู้หญิงต้องใส่ใจและให้ความสำคัญ เพราะหากพบว่าผิดปกติเกิดขึ้นจะได้รับการติดตามดูแลอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าร่างกายสามารถต่อต้านโรคได้เองตามธรรมชาติ หากไม่มีการตรวจคัดกรองตรวจหามะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมออาจพบว่า เซลล์ผิดปกติพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น มะเร็งปากมดลูกไปจะทำให้ทุกอย่างสายเกินแก้ ในปัจจุบันไม่มีหนทางป้องกันเชื้อเอชพีวีสาเหตุหลักของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูกได้ ขณะนี้มีการพยายามพัฒนาวัคซีนที่จะช่วยป้องกันโรคเอชพีวีอย่างเรื้อรังและอยู่ในระหว่างการวิจัยทางคลินิกกับกลุ่มสาวรุ่นใน 14 ประเทศ” ศาสตราจารย์ซูซานเน่กล่าว

          สตีเว่น พ๊อตต์ส ผอ.ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์กรการวิจัยเพื่อสุขภาพ ทีเอ็นเอส เฮลธ์แคร์กล่าวถึงผลจากการวิจัยในหัวข้อ “มุมมองและทัศนคติของผู้หญิงต่อโรคมะเร็งปากมดลูก” ว่าทีเอ็นเอส เฮลธ์แคร์วิจัยจากกลุ่มผู้หญิงอายุ 18-55 ปี ที่อยู่ในสังคมระดับกลางขึ้นไปรวมถึงกลุ่มผู้หญิงที่มีลูกสาววัยรุ่น กลุ่มแพทย์ เวชศาสตร์ทั่วไปและแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษาสุขภาพ ของผู้หญิงใน 4 ประเทศคือ อินเดีย, ไต้หวัน, ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ผลจากการวิจัยสรุปได้ว่าในประเทศกำลังพัฒนาผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตรวจตรวจทางเซลล์วิทยาของปากมดลูกที่เรียกว่า “แพปสเมียร์” ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วมีผู้หญิงจำนวนมากเข้ารับการตรวจแต่ไม่ทราบว่าตรวจเพื่ออะไร

          “จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่างการทำงานวิจัยไม่ค่อยทราบและไม่สนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูก โดยส่วนใหญ่มักเป็นการตั้งรับมากกว่าป้องกันเพื่อสุขภาพ ผู้หญิงในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนามองว่าโรคมะเร็งเต้านมอยู่ในระดับความคิดต้น ๆ มากกว่าโรคมะเร็งปากมดลูก ขณะที่ผู้หญิงที่อายุยังน้อยคิดว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคของผู้หญิงที่มีอายุมาก นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีเป็นสาเหตุการเกิดมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่เชื่อว่าโรคมะเร็งเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม วิถีชีวิต อายุ ส่วนทัศนคติของแม่ที่มีลูกวัยรุ่นมีความคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกแก่ลูกสาวเพราะลูกยังเด็กเกินไป” ผอ.ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทีเอ็นเอส เฮลธ์แคร์สรุปผลวิจัย




สนับสนุนข้อมูลโดย